เกาหลีเริ่มมีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างจริงจังเมื่อปี
๒๕๐๔ ปีเดียวกับไทย (ซึ่งอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการเช่นเดียวกัน) ภายในเวลาไม่ถึง
๒๐ ปี เกาหลีสามารถผลิตรถยนต์ เรือเดินสมุทร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
และเหล็กกล้า ตีตลาดโลก รวมทั้งเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิคในอีกไม่กี่ปีต่อมา
เกาหลีพัฒนาอุตสาหกรรมโดยเริ่มต้นจากมือเปล่าก็ว่าได้
ความสำเร็จดังกล่าวมิได้เกิดจากความบังเอิญ แต่เกิดจากการทำงานหนักด้วยจิตใจที่มุ่งมั่น
และคนที่มุ่งมั่นยิ่งกว่าใคร ๆ ก็คือปากจุงฮี ผู้เป็นประธานาธิบดี
ทันทีที่เขาได้อำนาจจากการรัฐประหารก็ผลักดันให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วนโดยมีญี่ปุ่นเป็นแบบอย่าง
เน้นการส่งออกโดยการสนับสนุนของรัฐอย่างเต็มที่
เขาไม่เพียงกำกับการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น
แต่ยังติดตามโครงการต่าง ๆ ทั้งของรัฐและเอกชนแทบทุกโครงการอย่างไม่วางมือเพื่อให้เป็นไปตามแผน
แม้เขาจะรับฟังความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ แต่เขาก็มีความเชื่อมั่นในตนเองสูงมาก
หากตั้งใจว่าจะทำอะไรแล้ว ก็ต้องทำให้ได้ แม้อุปสรรคจะมากมายเพียงใดก็ตาม
หลังจากที่ได้เห็นทางด่วนของเยอรมนีตะวันตก เขาใฝ่ฝันอยากเห็นเกาหลีมีทางด่วนชั้นดีทั่วประเทศบ้าง
เขามั่นใจว่ามันจะทำให้การค้าและอุตสาหกรรมของประเทศรุดหน้า เขาจึงเร่งรัดให้มีการสร้างทางด่วนจากโซลไปปูซานทันที
แต่ไม่มีใครเห็นด้วยกับความคิดของเขาเลยเพราะต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างสูงกว่างบประมาณทั้งประเทศเสียอีก
แม้แต่ธนาคารโลกก็เห็นว่าการสร้างถนนธรรมดา ๆ น่าจะเหมาะกว่า
แต่เขาไม่ยอมแพ้ เขารับเอาโครงการนี้มาดำเนินการเอง
เขาสั่งให้ลูกน้องรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการก่อสร้างทางด่วนในประเทศต่าง
ๆ ตั้งแต่ชิลีถึงรัสเซีย วันแล้ววันเล่าเขานั่งเฮลิคอปเตอร์บินทั่วประเทศเพื่อกำหนดจุดที่ถนนตัดผ่านด้วยตัวเอง
และเมื่อมีการก่อสร้าง เขาก็บินมาติดตามความคืบหน้าและแก้ปัญหาด้วยตัวเอง
ในที่สุดถนนยาว ๔๒๐ กิโลเมตรก็สร้างสำเร็จโดยใช้เวลาแค่ สองปีครึ่งเท่านั้น
เมื่อเกาหลีประสบความสำเร็จในการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค
เช่น รองเท้า เสื้อผ้า เขาเห็นว่าเกาหลีจำเป็นต้องก้าวสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมหนักได้แล้ว
เขาจึงพยายามผลักดันให้มีโรงงานผลิตเหล็กกล้า แต่ไม่มีใครเห็นด้วยเช่นเคย
รวมทั้งธนาคารโลก เพราะเกาหลีตอนนั้นไม่มีอะไรเลย ไม่ว่าเทคโนโลยี
เงิน วัตถุดิบ รวมทั้งวิศวกรที่มีประสบการณ์ด้านนี้ แต่เขาก็สามารถผลักดันจนสำเร็จ
นั่นเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้เกาหลีเขยิบมาสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมในเวลาต่อมา
อุตสาหกรรมประเภทหนึ่งที่สร้างชื่อให้เกาหลีก็คือ
อุตสาหกรรมต่อเรือ แต่ตอนที่ปากจุงฮีผลักดันเรื่องนี้ ไม่มีใครเห็นด้วยเช่นเคย
นานาประเทศส่ายหัวกับโครงการนี้ จึงไม่มีใครให้เงินกู้ยืม แต่หลังจากวิ่งเต้นทุกวิธี
โครงการนี้ก็เริ่มต้นได้ท่ามกลางความไม่มั่นใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมทั้งวิศวกรต่อเรือ
แม้เมื่อต่อเรือเสร็จ ก็ไม่มีใครแน่ใจว่ามันจะลอยน้ำได้ แต่หลังจากที่ต่อเรือลำแรกได้สำเร็จ
ภายในเวลาไม่ถึงสิบปี อุตสาหกรรมต่อเรือของเกาหลีก็เติบใหญ่กลายเป็นอันดับหนึ่งของโลก
ควรกล่าวด้วยว่าความสำเร็จดังกล่าวมิได้เป็นผลแห่งความมุ่งมั่นของปากจุงฮีคนเดียวเท่านั้น
หากยังเป็นเพราะอุตสาหะของผู้คนอีกมากมาย ทางด่วนเชื่อมโซลกับปูซานสำเร็จได้ในเวลาที่รวดเร็วก็เพราะประธานบริษัทก่อสร้างลงไปกินนอนและขลุกอยู่กับลูกน้องตั้งแต่เช้าจนค่ำ
ประธานคนเดียวกันนี้แหละที่เคี่ยวเข็ญคนงานวันแล้ววันเล่าจนต่อเรือเดินสมุทรลำแรกได้สำเร็จ
สร้างชื่อเสียงให้แก่บริษัทฮุนไดมาจนทุกวันนี้
ในทำนองเดียวกันโรงงานเหล็กกล้ากลายเป็นจริงขึ้นได้ก็เพราะได้ประธานบริษัทที่ทำงานหนัก
สู้หัวชนฝาและทำงานติดดิน มีคราวหนึ่งเขาขึ้นไปตรวจโครงโรงงาน ได้พบว่ามีน็อตบางตัวหลวม
เขาจึงพาผู้จัดการทุกฝ่ายช่วยกันตรวจน็อตทั้งโรงงานรวม ๒ แสน ๔ หมื่นตัว
เพื่อให้แน่ใจว่าน็อตทุกตัวจะถูกไขให้แน่นหนา
ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของเกาหลี ซึ่งใคร ๆ ยกย่องว่าเป็น
ปาฏิหาริย์นั้น ได้มาโดยแลกกับสิ่งมีค่าหลายอย่าง อาทิ ประชาธิปไตย
สิทธิเสรีภาพ แต่บทเรียนอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือ ความมุ่งมั่นและความเพียรพยายามนั้น
สามารถทำสิ่งยากที่ใคร ๆ คิดว่าเป็นไปไม่ได้ ให้กลายเป็นจริงขึ้นมาได้
ปาฏิหาริย์จึงมิได้อยู่ที่ไหน หากอยู่ที่สมองและสองแขนของเรานี้เอง