นิตยสาร IMAGE
มิถุนายน ๒๕๕๑ ภาวัน |
|
ใครที่ได้ไปเยือนบ้านของชาวญี่ปุ่น อย่างแรกที่เจ้าบ้านมักจะนำมาต้อนรับคือน้ำชา ซึ่งมีคุณภาพดีไม่แพ้ประเทศใดในโลก แต่ถ้าเจ้าบ้านเป็นพระหรือนักบวช และบ้านที่คุณไปเยือนนั้นอยู่ในวัดญี่ปุ่น น้ำชาที่นำมาต้อนรับคุณอย่างเป็นพิธีการสักหน่อย ย่อมหนีไม่พ้น มัทชะ ซึ่งทำจากผงชา เติมน้ำแล้วตีให้เป็นฟอง รสชาติค่อนข้างขม แต่ให้ความรู้สึกกลมกล่อมเมื่อกินกับขนมหวาน ซึ่งเจ้าบ้านต้องนำมาต้อนรับคู่เคียงกันเสมอ การดื่มมัทชะมิใช่เป็นแค่การเสพรสชาเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสที่จะได้ชื่นชมความงามของถ้วยชา ทั้งด้วยสายตาและสัมผัส รูปลักษณ์ เส้นสี และพื้นผิวของถ้วยชานั้นเป็นผลงานศิลปะที่จรรโลงใจ และให้ความรู้สึกละเมียดละไมไม่แพ้รสชา น้ำชาที่นำมาต้อนรับมีปริมาณไม่กี่ช้อนครัว แต่อาจใช้เวลาดื่มนานนับสิบนาที เพราะนอกจากจิบพลาง ชื่นชมถ้วยชาพลางแล้ว ยังมีการสนทนากันอย่างสบาย ๆ บางครั้งเรื่องที่สนทนาอาจข้องแวะอยู่กับรสชาติของน้ำชาและความงามของถ้วยชา ใครที่เป็นคนเร่งรีบ ชอบทำอะไรเร็ว ๆ หากได้มาดื่มชาในบรรยากาศแบบนี้ ทีแรกอาจอึดอัด แต่ไม่นานก็อาจได้สัมผัสกับความสงบ ที่รุ่มร้อนก็อาจเย็นลง และพบว่าความเนิบช้า ละเมียดละไมนั้น ก็มีเสน่ห์ไม่น้อย การดื่มชาเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่มีความหมายมากกว่าการเสพทางปาก ถ้าเป็นความสุข ก็เป็นความสุขที่มากกว่ารสชาติทางลิ้น หากยังรวมไปถึงการสนองสุนทรียารมณ์ด้านอื่น ๆ ที่สำคัญคือกล่อมเกลาจิตใจให้ประณีตและสงบเย็น ความสุขจากรสชาติอันจัดจ้านและการกระตุ้นเร้านั้น หาได้ไม่ยาก แต่ความสุขจากอารมณ์อันละเมียดละไมนั้นหาได้ยากและมีคุณค่ามากกว่า ญี่ปุ่นได้พัฒนาศิลปะแห่งการดื่มชาจนเกิดพิธีชงชาขึ้น หากคุณโชคดี คุณอาจได้รับเชิญให้ร่วมพิธีดังกล่าว ซึ่งคนทั่วไปไม่ค่อยมีโอกาสมากนัก พิธีชงชาที่สมบูรณ์แบบจะมีขึ้นได้ก็เฉพาะในห้องหรือในเรือนหลังเล็ก ๆ ที่เรียบง่ายไร้สิ่งประดับประดา ซึ่งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ การชงชาจะเป็นไปอย่างเชื่องช้า เริ่มตั้งแต่ทำความสะอาดภาชนะได้แก่ ถ้วยชา ช้อนตักผงชา ไม้กวนน้ำชา ล้างด้วยน้ำแล้วเช็ดด้วยผ้า จากนั้นจึงใส่ผงชา เติมน้ำร้อน แล้วกวนน้ำชาจนแตกเป็นฟอง แล้วจึงนำมามอบให้แก่อาคันตุกะ ขั้นตอนทั้งหมดนี้จะได้ชามาเพียงถ้วยเดียวเท่านั้น หากผู้ร่วมพิธีมี ๑๐ คน ก็ต้องทำ ๑๐ ครั้ง แต่ละครั้งใช้เวลาไม่ต่ำกว่า ๓ นาที เวลาที่เนิ่นนาน บรรยากาศที่สงบไร้เสียงพูดคุย และความสลัวภายในห้อง จะค่อย ๆ น้อมใจผู้คนให้สงบ ผัสสะจะละเอียดขึ้น และความสุขจะบังเกิดทีละน้อย ๆ จากการได้ยินเสียงน้ำเดือดในกาและเสียงนกร้อง และจากการชื่นชมภาชนะที่ใช้ในการชงชา ซึ่งเปลี่ยนไปตามฤดูกาล เมื่อน้ำชาถูกนำมาต้อนรับ ใจที่สงบย่อมเข้าถึงรสชาติอันสุขุมลุ่มลึกได้ไม่ยาก ศิลปะที่สุดยอดนั้นคือความงดงามที่กล่อมเกลาจิตให้สงบ นิ่ง และเย็น เข้าถึงภาวะที่โปร่งเบา และสัมผัสกับมิติอันลึกซึ้งภายใน แต่คุณค่าของศิลปะมิได้มีเพียงเท่านั้น หากยังสามารถนำพาให้ผู้คนซาบซึ้งถึงสัจธรรมของชีวิตด้วย ในวัฒนธรรมการชงชาของญี่ปุ่น ถ้วยชาที่ถือว่างดงามและมีคุณค่าอย่างยิ่ง คือถ้วยชาที่มีผิวไม่เรียบ รูปทรงไม่สม่ำเสมอ และเปิดเนื้อดินเผาโดยไร้เครื่องเคลือบ ราวกับเป็นงานที่ยังไม่แล้วเสร็จ แต่งานเหล่านี้เป็นฝีมือของช่างชั้นครูที่เข้าถึงสุดยอดของศิลปะ คุณคงคาดไม่ถึงว่าถ้วยรูปร่างแปลก ๆ เหล่านี้บางใบมีมูลค่าสูงกว่ารถเบ๊นซ์เสียอีก แต่คุณค่าที่สำคัญกว่านั้นคือการเผยแสดงสัจธรรมของชีวิตและโลกว่า ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ นี้ก็เช่นเดียวกับเรือนชงชา ที่เปิดเนื้อไม้แสดงถึงความเก่าแก่ คร่ำคร่า ย้ำเตือนถึงความไม่เที่ยงของสรรพสิ่ง ชีวิตคือความไม่สมบูรณ์แบบ มิอาจเป็นดั่งใจได้เสมอไป ขึ้นแล้วก็ลง
งดงามแล้วก็แก่หง่อม หาความ สุดยอดของศิลปะนั้นมิใช่อะไรอื่น หากคือความงาม ความจริง
และความดีที่ประสานกันเป็นหนึ่งนั่นเอง |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|