ความเป็นมาของธรรมยาตรา
ธรรมยาตราในความหมายที่เป็นปฏิบัติการทางสังคมบนพื้นฐานของศาสนธรรม ดูเหมือนจะเริ่มต้นเป็นครั้งแรก ณ ประเทศกัมพูชา โดยการนำของสมเด็จพระมหาโฆษนันทะ เมื่อปี ๒๕๓๕ ธรรมยาตราครั้งนั้นมีจุดมุ่งหมายที่จะนำสันติภาพและและสมานฉันท์คืนสู่ประเทศกัมพูชาซึ่งบอบช้ำจากภัยสงครามมาเป็นเวลานานกว่า ๒ ทศวรรษ แม้สนธิสัญญาสันติภาพจะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายในกัมพูชา แต่การสู้รบก็ยังมีอยู่ประปราย ขณะที่ผู้คนจำนวนมากยังไม่มีความหวังว่าสันติภาพจะเป็นจริงได้ ธรรมยาตราเพื่อสันติภาพและสมานฉันท์ในกัมพูชา ซึ่งจัดติดต่อกันเป็นเวลาหลายปีในช่วงหน้าร้อน และฝ่าเดินไปยังจุดที่ยังมีการปะทะกันอยู่ ได้จุดประกายแห่งความหวังและความกล้าในหมู่ประชาชน เป็นครั้งแรกก็ว่าได้ในรอบหลายทศวรรษที่คนเล็กคนน้อยได้ตระหนักว่าสันติภาพก็อยู่ในมือของเขาด้วยเหมือนกัน หาได้ขึ้นอยู่กับนักการเมืองหรือกองกำลังติดอาวุธฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ ธรรมยาตราที่กัมพูชา ได้พิสูจน์ว่า การเดินอย่างสงบ โดยพร้อมที่จะเผชิญกับความยากลำบาก และด้วยใจที่เชื่อมั่นในอานุภาพแห่งธรรม สามารถก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ อย่างน้อยก็ในใจของสามัญชนคนธรรมดา ซึ่งเป็นฝ่ายถูกกระทำมาโดยตลอด ไม่กี่ปีต่อมาธรรมยาตราในกัมพูชา ได้เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดธรรมยาตราขึ้นในประเทศไทย เริ่มจาก ธรรมยาตราเพื่อสันติภาพและชีวิต ซึ่งจัดขึ้นเพื่อสอดรับกับการเดินทางข้ามทวีปจากโปแลนด์ไปญี่ปุ่น โดยผ่านประเทศไทย ในโอกาสครบรอบ ๕๐ ปีแห่งการยุติสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อปี ๒๕๓๘ แต่ธรรมยาตราที่จัดได้ต่อเนื่องยาวนานที่สุด ก็คือ ธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลา ซึ่งเริ่มเมื่อปี ๒๕๓๙ แม้ประเด็นหรือจุดมุ่งหมายจะแตกต่างจากธรรมยาตราที่กัมพูชา แต่รูปแบบและจิตวิญญาณของการเดินนั้นถือได้ว่าสืบเนื่องกัน คือเป็นการเดินอย่างสงบ เพื่อเป็นสื่อนำธรรมะไปยังทุกหนแห่งที่เดินผ่าน ขณะเดียวกันก็อาศัยการเดินนั้นเป็นการปฏิบัติธรรมเพื่อขัดเกลาตนเองไปด้วย ความเปลี่ยนแปลงในสังคมนั้นแยกไม่ออกจากความเปลี่ยนแปลงภายในตนเอง และทั้งหมดนี้จะต้องเริ่มจากความเปลี่ยนแปลงในใจของผู้เดินเป็นประการแรก ธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลาเริ่มต้นจากกิจกรรมทัศนศึกษาของพระนวกะจำนวนหนึ่ง ซึ่งได้มาเรียนรู้เกี่ยวกับปัญหาของทะเลสาบสงขลา และตระหนักว่าทางแก้นั้นน่าจะมาจากการร่วมแรงร่วมใจในหมู่ชาวบ้านรอบทะเลสาบเป็นประการสำคัญ มิใช่ถูกกำหนดโดยข้าราชการและนักการเมือง ซึ่งสัมผัสกับปัญหาอย่างผิวเผิน แต่การที่ชาวบ้านจะร่วมมือกันได้ ก็ต้องเริ่มจากการมองเห็นปัญหาอย่างรอบด้าน ไม่โทษซึ่งกันและกันว่าเป็นสาเหตุของปัญหา และที่สำคัญคืออาศัย ทุนทางสังคมที่มีอยู่แล้ว เป็นพลังขับเคลื่อนการทำงาน หนึ่งในบรรดาทุนทางสังคมของชุมชน ได้แก่ ศาสนา ซึ่งรวมถึงพระภิกษุสงฆ์ ด้วย ธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลาเป็นความพยายามที่จะสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างชาวบ้านและพระภิกษุสงฆ์รอบทะเลสาบ โดยผู้ร่วมเดินนั้นเป็นเสมือนผู้นำข่าวสารจากชุมชนต่าง ๆ มาถ่ายทอดให้แก่กันและกัน และเป็นโอกาสที่จะได้ถกเถียงและแลกเปลี่ยนความเห็นกัน ผู้จัดและผู้ร่วมเดิน ไม่มีใครที่คิดว่าตนมีคำตอบให้แก่ชาวบ้าน ขณะเดียวกันก็ไม่คิดว่าชุมชนใดชุมชนหนึ่งจะมีคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับทะเลสาบสงขลา แต่เราเชื่อว่าการเรียนรู้ข้อมูลและการแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างชาวบ้านที่อยู่รอบทะเลสาบสงขลา เป็นกระบวนการที่จะนำไปสู่ทางออกที่เป็นประโยชน์กับทุกชุมชน ดังนั้นการจัดเวทีชาวบ้านตามชุมชนที่คณะธรรมยาตราพำนักระหว่างทางจึงเป็นกิจกรรมสำคัญอย่างหนึ่ง การเดินนั้นเปิดโอกาสให้ทุกคนในคณะธรรมยาตราได้สัมผัสกับสภาพความเป็นจริงของทะเลสาบสงขลาอย่างถี่ถ้วนด้วยตัวเอง
สภาพความเป็นจริงดังกล่าวมีทั้งส่วนที่เป็นปัญหาทางนิเวศวิทยา และปัญหาทางสังคม
ซึ่งกำลังรุกล้ำเข้าไปในชุมชน แต่ในเวลาเดียวกันก็มีส่วนที่เป็นพลังของชุมชน
ซึ่งยากจะสัมผัสได้หากนั่งรถยนต์ จำเพาะผู้ที่เดินเท้าเท่านั้นที่จะซาบซึ้งน้ำใจไมตรีของผู้คนสองข้างทาง
ที่เอื้อเฟื้อน้ำและอาหาร ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน แต่ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันก็คือการเดินเปิดโอกาสให้ทุกคนในคณะธรรมยาตราได้รู้จักตนเองอย่างลุ่มลึก
เมื่อเดินอย่างสงบและมีสติ เราย่อมเห็นความรู้สึกนึกคิดของตัวเองแจ่มแจ้งขึ้น
รวมทั้งสังเกตเห็น ธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลา เป็นความพยายามที่จะเชื่อมกิจกรรมเพื่อสังคมและการปฏิบัติธรรมเข้าด้วยกัน การทำงานเพื่อประโยชน์ท่านและประโยชน์ตนมิจำเป็นต้องแยกจากกัน แต่สิ่งที่เราอยากเห็นมากกว่านั้นคือ ความพยายามที่จะเชื่อมการพัฒนาสังคมและศาสนธรรมเข้าด้วยกัน การพัฒนาสังคมนั้นไม่จำเป็นต้องตัดขาดจากศาสนธรรม อันที่จริงแล้ว การแยกขาดจากกันย่อมทำให้การพัฒนาสังคมนั้นกลายเป็นมิจฉาพัฒนาด้วยซ้ำ ดังเห็นได้จากปัจจุบัน จะว่าไปแล้ว ปัญหาของทะเลสาบสงขลาในปัจจุบันเกิดจากมิจฉาพัฒนา ที่เอาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะ ที่วัดเป็นตัวเลขหรือเม็ดเงินได้ เป็นตัวตั้ง ยิ่งกว่านั้นยังคำนึงแต่ประโยชน์ของคนบางกลุ่ม ขณะที่คนส่วนใหญ่ต้องตกเป็นฝ่ายแบกรับภาระอย่างไม่รู้จับจบสิ้น เป็นเวลา ๘ ปีที่มีการจัดธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลาอย่างต่อเนื่องติดต่อกัน จนถึงปี ๒๕๔๗ จึงได้ยุติไว้ชั่วคราว แม้ยังไม่มีกำหนดว่าธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลาจะเริ่มอีกเมื่อใด แต่บทเรียนและประสบการณ์ทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวตลอด ๘ ปีที่ผ่านมาก็มากพอที่จะมีการศึกษาและประเมินกิจกรรมดังกล่าวอย่างจริงจัง เป็นที่น่ายินดีที่อาจารย์ประสาท มีแต้ม แห่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ มีฉันทะและอุตสาหะในการศึกษาธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลาอย่างรอบด้าน โดยเชื่อมโยงกับแนวคิดการพัฒนากระแสหลักที่ครอบงำสังคมไทยในปัจจุบัน ทำให้เห็นว่าธรรมยาตรามิใช่กิจกรรมเพื่อฟื้นฟูทะเลสาบสงขลาเท่านั้น แต่มีนัยยะที่กว้างกว่านั้น ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่มิได้เกี่ยวข้องกับทะเลสาบสงขลา แต่ห่วงใยในสภาพสังคมไทยโดยรวม หรือสภาพชุมชนท้องถิ่นของตน ควรกล่าวด้วยว่า ธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลา
ได้เป็นแบบอย่างให้ชุมชนในหลายพื้นที่จัดกิจกรรมทำนองเดียวกันเพื่ออนุรักษ์สภาพแวดล้อมในท้องถิ่นของตน
เช่น ธรรมยาตราเพื่อชีวิตและธรรมชาติลุ่มน้ำลำประทาว (จ.ชัยภูมิ) ซึ่งจัดติดต่อกันเป็นปีที่
๗ แล้ว และธรรมชาติยาตราเพื่อแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี นอกจากนั้นยังมีการจัดธรรมยาตราอีกหลายลักษณะ
ที่เชื่อมโยงปฏิบัติการทางสังคมเข้ากับการปฏิบัติธรรม มองในแง่นี้ ธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลาย่อมมีคุณูปการมิใช่น้อยต่อสังคมไทย |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|