ฉันอยากอายุยืนสัก 80-90 ปี พระไพศาล วิสาโล
แบ่งปันบน facebook Share
|
|
กราบนมัสการพระอาจารย์ไพศาล ที่เคารพ วันนี้ครูดล กับ หมอตุ๊ เริ่มเปิดคลินิกธรรมะเป็นครั้งแรกในปี งบประมาณ 2557 นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมทักษะและ การเรียนรู้ของเจ้าหน้าที่ในการช่วยเหลือผู้ป่วยด้านจิตวิญญาณ โดยจัดเป็นรูปแบบ One Day Camp สัญจรไปตามโรงพยาบาลชุมชนต่างๆ เป็นรูปแบบการทำงานแบบใหม่ นอกเหนือจากการจัดในรูปแบบค่ายมะเร็ง และ การอบรม Sp1-Sp5 เหมือนใน 3-4 ปีที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนหลายแห่งเกือบ 30 คน เข้าร่วมเรียนรู้ โดยครูดลได้สาธิตการให้คำปรึกษาแบบลึกในผู้ป่วยที่รับเชิญมาร่วมกิจกรรม และหมอตุ๊ทำหน้าที่เป็นกระบวนกรถอดบทเรียน หมอตุ๊ขอโอกาสเล่ากระบวนการ และ เรื่องราวของผู้ป่วยถวายพระอาจารย์ เพื่อนำไปสู่ประเด็นที่จะเรียนถามและขอให้พระอาจารย์เติมเต็มในท้ายจดหมายนี้นะคะ ผู้ป่วยชื่อลุงคำ อายุ 64 ปี ป่วยเป็นมะเร็งท่อน้ำดี (มีก้อนในตับ) มาได้10 เดือน ไปหาหมอ ที่ รพ.มหาราชฯ หมอแนะนำผ่าตัด แต่ปฏิเสธการรักษา ครูดลเริ่มต้นด้วยการทำ “ปรอทวัดใจ” ผู้ป่วย โดยนำความทุกข์จรในบทสวดมนต์ (ความโศก ความร่ำไร รำพัน ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ การประสบสิ่งไม่เป็นที่รักที่พอใจ การพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รักที่พอใจ และ ปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้น) มาทำเป็นประเด็นย่อย เพื่อให้ผู้ป่วยลองกำหนดรู้ทุกข์ ตนเองอย่างคร่าวๆ ผลปรากฏว่าผู้ป่วยให้ความสนใจกับทุกข์ที่เกิดจากความพลัดพราก และ อยากคุยเรื่องนี้เป็นอันดับแรก (มีข้อน่าสังเกตว่า ผู้ป่วยไม่ค่อยกังวลกับอาการทางกาย เช่น ปวดท้องเลย) เมื่อให้คำปรึกษาไปพบว่าผู้ป่วยมีความอยาก ความยึด มาก ดังคำกล่าวที่ได้ยินซ้ำๆคือ “ ยังไม่อยากตาย อยากมีอายุยืนๆสัก 80-90 ปี อยากกลับมาแข็งแรง ทำงานได้เหมือนเดิม” “ อยากเห็นลูกหลาน มาอยู่รวมกันพร้อมหน้า โดยเฉพาะลูกคนโต ที่ไปอยู่ไกล (ปักษ์ใต้)” “ ผมกลัวตายไป ทั้งๆยังไม่เห็นหน้าลูก....ตอนพ่อ (ของลุง)ป่วย ผมก็รู้สึกผิดที่ไม่ได้ไปดูแล เพราะอยู่ไกล ตอนนี้ก็กลัวจะเกิดขึ้นกับตนเอง” แต่เมื่อถามว่า ถ้าอยากอายุยืนๆ หมอแนะนำผ่าตัด ทำไมไม่ผ่า ลุงตอบว่า “ ผมกลัว ผ่าแล้วไม่ฟื้น ร่างกายอ่อนแอมาก ตอนนี้เจ็บข้างในอยู่แล้ว ผ่าแล้วก็จะเจ็บข้างนอกอีก” แล้วคำตอบของลุงคำก็จะวนไปมา ระหว่าง การหวนหาอาลัยในอดีต (อยากแข็งแรง ทำงานได้เหมือนเก่า) และ กังวลกับอนาคต (กลัวการผ่าตัดแล้วไม่ฟื้น กลัวตายไปแล้วลูกไม่ได้มาดูใจ) และอยากเห็นลูกๆทุกคน มาอยู่พร้อมหน้ากัน โดยเฉพาะเมื่อพูดเรื่องลูก ลุงคำจะมีน้ำตาคลอ ครูดลจึงจับประเด็นเรื่องลูก และสิ่งค้างคาใจเรื่องประสบการณ์การดูแลพ่อแม่เมื่อเจ็บป่วยของลุง จัดกิจกรรมบทบาทสมมติเพิ่มขึ้น เพื่อให้ลุงได้คุยกับลูกสาว (สมมติ) และ ขออโหสิกรรม พ่อแม่ (สมมติ) ของตนเอง หลังจากนั้นหมอตุ๊ก็ขอให้เจ้าหน้าที่ ได้ช่วยกันถอดบทเรียน ในด้าน ทักษะที่ครูดลใช้ โลกใต้ภูเขาน้ำแข็ง (ใจ) ของลุงคำ ธรรมะของผู้เยียวยา(ครูดล) และวิเคราะห์ธรรม (ธรรมชาติในใจ) ของผู้ป่วย หมอตุ๊จะขอโอกาสจับประเด็นวิเคราะห์ธรรมในใจของผู้ป่วย ดังนี้นะคะ ทุกข์ คือ ความไม่สบายกาย (ปวดท้อง มีก้อนที่ตับ) เหตุแห่งทุกข์ ไม่ยอมรับความจริงของชีวิต (หวนหาอาลัยในอดีต กังวลกับอนาคต) มรรค ทำจิตขณะนี้ คือ ช่วยให้ลุงปล่อยวางสิ่งค้างคาใจ (ความรู้สึกผิดต่อพ่อแม่) มองแง่บวก ประเด็นที่เป็นข้อสงสัยของหมอตุ๊ ที่จะกราบเรียนถามพระอาจารย์ คือ
กราบนมัสการมาด้วยความเคารพและศรัทธาอย่างสูง |
|
เจริญพร คุณหมอตุ๊ เท่าที่อ่านดู อาตมาเห็นว่าคำตอบของลุงคำ ไม่ได้ขัดแย้งกันเอง คือ ในด้านหนึ่งก็กลัวตาย กลัวการพลัดพราก อยากมีชีวิตอยู่นาน ๆ แต่ขณะเดียวกันก็กลัวเจ็บจากการผ่าตัด ที่สำคัญก็คือ ยังไม่มีศรัทธาในการรักษา คือยังไม่มั่นใจว่าผ่าตัดแล้วจะรอด ประกอบกับไม่มั่นใจว่าร่างกายของตัวเองจะทนไหว ถ้าหากมีความมั่นใจในสองอย่างนี้ (การรักษาและร่างกาย) ก็อาจยอมเจ็บ ตรงนี้ถ้าหากหมอมั่นใจว่าการผ่าตัดจะทำให้แกมีโอกาสรอดได้มากกว่าตอนนี้ ก็ควรพูดให้แกมีความมั่นใจในวิธีการรักษา รวมทั้งมีความมั่นใจว่าร่างกายของแกทนไหว ในประเด็นหลังนี้อาจมีสาเหตุมาจากความวิตกกังวลในความเจ็บปวดของตนมากเกินไป ทำให้เกิดอาการ “ใจไม่สู้” ถ้าหากหมอและพยาบาลช่วยให้ลุงคำลดความกังวล และมั่นใจในร่างกายของตน จน “ใจสู้” ขึ้นมา แกก็จะยอมรับการผ่าตัดได้มากขึ้น สำหรับคำถามข้อที่ ๒ นั้น อาตมาคิดว่า นอกจากใจที่ไม่อยู่กับปัจจุบันแล้ว สาเหตุสำคัญที่ทำให้ใจไม่ยอมรับความจริง (ความพลัดพราก) ก็คือ ความยึดติดถือมั่นในลูกหลาน (และสิ่งอื่น ๆ) ยิ่งยึดมั่นอยากในลูกหลาน(และในชีวิตของตน)มากเท่าไร ก็ยากจะยอมรับความพลัดพรากที่จะเกิดขึ้นได้มากเท่านั้น อย่างไรก็ตามสภาพจิตใจของลุงคำตอนนี้ คงไม่พร้อมที่จะยอมรับความจริงได้ง่าย ๆ ต้องใช้เวลาพอสมควร ระหว่างนี้ควรช่วยบรรเทาความกลัวและความกังวลของแกไปพลาง ๆ ก่อน ที่คุณหมอแนะนำให้แกเจริญสติหรือทำสมาธินั้น อาตมาคิดว่าดีแล้ว แต่คงต้องอาศัย “ตัวช่วย”ด้วย อาทิ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แกมีศรัทธา เพื่อช่วยให้เกิดความอบอุ่นใจหรือมีความหวังเพิ่มขึ้น เช่น หาพระพุทธรูปมาตั้งไว้ในห้องของแก และชวนแกสวดมนต์ต่อหน้าพระพุทธรูป หรือหาพระเครื่องให้แกกำไว้ แล้วแนะนำแกให้เจริญสติด้วยการกำและแบ ขณะที่กำก็บริกรรม “พุท” เมื่อแบมือก็บริกรรม “โธ” เป็นต้น เสร็จแล้วก็อาจอุทิศบุญกุศลให้แก่เจ้ากรรมนายเวรไปด้วย ชาวบ้านอย่างลุงคำนั้นแม้จะมีจุดอ่อนด้านการคิดใคร่ครวญเชิงเหตุผล แต่ก็มีจุดแข็งด้านศรัทธา หากหมอและพยาบาลใช้จุดแข็งนี้ให้เป็นประโยชน์ ก็อาจช่วยให้คนไข้ทำใจได้มากขึ้น หรือมีกำลังใจขึ้นมา สามารถยอมรับความจริงได้ทีละนิด ๆ ยิ่งไม่มีเรื่องค้างคาใจหรือห่วงกังวล การที่จิตจะน้อมนึกถึงสิ่งดีงามหรือเป็นกุศล ก็จะเกิดขึ้นได้ง่าย จนมีความมั่นใจในภพหน้า ถึงตรงนั้นก็จะกลัวตายน้อยลง และยอมรับความตายที่จะเกิดขึ้นกับตนได้ในที่สุด ธรรมและพร |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|