หน้ารวมบทความ
   บทความ > ธรรม(ะ)ชาติบำบัด > ไหนว่าเวลาเป็นยารักษาใจ
กลับหน้าแรก

การช่วยเหลือผู้ป่วยด้านจิตวิญญาณ
ไหนว่าเวลาเป็นยารักษาใจ

พระไพศาล วิสาโล
วารสารธรรม(ะ)ชาติบำบัด
ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๑๔ พ.ศ. ๒๕๕๗

แบ่งปันบน facebook Share 

 

กราบนมัสการพระอาจารย์ไพศาลที่เคารพ

ทักษะการช่วยเหลือผู้ป่วยด้านจิตวิญญาณ (Sp1-Sp5) นอกจากจะสามารถนำไปใช้กับผู้ป่วยระยะสุดท้ายแล้ว ยังสามารถนำมาใช้กับคนทั่วไปรวมทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของเราด้วย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะ “การรักษาใจตนเป็นการรักษาใจผู้อื่น  และการรักษาใจผู้อื่นเป็นการรักษาใจตนด้วย”

3 วันของการฝึกอบรม “สร้างพลังเมตตาเพื่อเยียวยาอย่างเป็นองค์รวม” ที่ศูนย์มะเร็งโรงพยาบาลมหาราชฯจัดให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในเครือข่ายโรงพยาบาลชุมชนต่างๆมาเข้ารับการอบรม

มด เป็นนักวิทยาศาสตร์การแพทย์จบใหม่ เพิ่งเข้าทำงานในโรงพยาบาลชุมชนได้ไม่ถึงปี เธอดูโดดเด่น เพราะมดเป็นผู้เข้ารับการอบรมคนเดียวที่นั่งเก้าอี้ล้อเลื่อน (Wheel Chair) มาเรียน  สอบถามได้ความว่า มดได้รับอุบัติเหตุที่กระดูกสันหลังตั้งแต่เล็กๆ แต่ก็สามารถดำเนินชีวิตมาได้ ไม่ต่างจากคนอื่น ทราบภายหลังว่า มดเป็นคนเรียนเก่งมาก ได้รับการคัดเลือกให้เข้าค่ายโอลิมปิกตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม สอบเอนทรานซ์ติดแพทย์ แต่กรรมการสัมภาษณ์ไม่ให้ผ่าน เธอจึงเลือกเส้นทางใหม่เป็นนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่จบด้วยคะแนนเกียรตินิยมเหรียญทอง

วันที่ 3 ของการอบรม มดเข้ามาหาหมอตุ๊ด้วยน้ำตานองหน้า

มด       อาจารย์ขา มดจะปล่อยวางความคิดถึงแม่ได้อย่างไรคะ... แม่มดเสียชีวิตไปเมื่อปีที่แล้ว ตอนเสียใหม่ๆ มดก็ไม่ได้เสียใจอะไรมาก เพราะเห็นว่ามดทำหน้าที่ลูกได้เต็มที่แล้ว  แต่นับวัน นับเดือนล่วงไป  ทำไมมดจึงคิดถึง และ โหยหาแม่มากขึ้นเรื่อยๆ...(สะอื้น)

หมอต       ที่ผ่านมา แม่ดูแลมดอย่างไรคะ

มด       ตั้งแต่เล็ก แม่เป็นทุกอย่างของมดค่ะ  แม่เป็นแรงบันดาลใจ และเป้าหมายในชีวิตของมด  มดพยายามทำทุกอย่างเพื่อแม่...ตอนนี้ ไม่มีแม่แล้ว  มดจะอยู่ไปเพื่อใคร  มดไม่ต้องการมีเงิน หรือความสำเร็จในหน้าที่การงานใดๆ...ตอนนี้มดอยู่เหมือนคนไม่มีเป้าหมายในชีวิต...ใครๆเขาว่า เวลาที่ผ่านไปจะเป็นยารักษาใจ แต่ทำไมสำหรับมดแล้ว  ยิ่งนับวัน มดยิ่งคิดถึงแม่มากขึ้นทุกที

หมอตุ๊       ก่อนแม่เสียชีวิต มดเคยจากแม่ไปไหนนานๆไหมคะ

มด       ก็ตอนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยน่ะค่ะ มดต้องไปเรียนกรุงเทพฯ แม่อยู่ต่างจังหวัด  แต่ถึงอย่างไรมดยังได้โทรศัพท์ถึงแม่ทุกวัน

หมอตุ๊       ขณะนี้ใจมดยึดติดอยู่กับแม่ มดเห็นว่าพลังใจทั้งหมดของหนูอยู่ที่แม่เท่านั้น  แต่ป้าตุ๊ว่าลึกๆแล้ว ในใจของหนูยังมีพลังที่หนูเคยใช้มันมาก่อน..ดูซิ มดพิการแต่เล็ก  แต่มดก็ยังสามารถก้าวข้ามสิ่งนั้นและเรียนหนังสือจนประสบความสำเร็จในชีวิตมาได้...ลองค้นหาซิว่าพลังใจ พลังในการพึ่งตนเองของมดอยู่ที่ไหน

มด       อยู่ที่แม่ไงล่ะคะ...ตอนนี้ไม่มีแม่...พลังมดหมดแล้ว....หมดแล้ว....

จากนั้น หมอตุ๊ได้สอบถามสภาพความเป็นอยู่ของมดขณะนี้ซึ่งเพิ่งเปลี่ยนผ่านจากการเป็นนักศึกษา
ไปสู่ปีแรกของการทำงาน สภาพงาน เพื่อนร่วมงาน และกัลยาณมิตรทางธรรมที่พอจะเป็นที่พึ่งทางใจให้แก่
มด รวมทั้งสมาชิกในครอบครัวคนอื่น เช่น พ่อ และ พี่ชาย (แต่เห็นว่ามดไม่มีความผูกพันมากนัก)

หมอตุ๊ได้ช่วยให้มดใคร่ครวญ เหตุแห่งความทุกข์ พอจะสรุปได้ว่าเกิดจาก

  1. ความยึดติด เอาใจไปเกาะไว้กับแม่ผู้จากไป เนื่องจากสภาพการเลี้ยงดูตั้งแต่วัยเด็ก และข้อจำกัดด้านสุขภาพของมด
  2. การเพิ่งเรียนจบ และแม่มาด่วนจากไป โดยยังไม่ได้ชื่นชมความสำเร็จของมด (ซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จร่วมกันกับแม่)
  3. สภาพการเริ่มต้นงานใหม่ ทั้งวิถีชีวิต และสังคมรอบตัวที่เปลี่ยนแปลงไป

ส่วนหนทางดับทุกข์ก็คือ การทำจิต และทำกิจ

ทำจิต คือฝึกวางใจให้อยู่อย่างเป็นสุขในปัจจุบัน ยอมรับความจริงของชีวิต ด้วยการอ่านหนังสือ
ธรรมะ (มดเลือกอ่านหนังสือของพระอาจารย์ไพศาลอยู่แล้วค่ะ) มีกลุ่มกัลยาณมิตรทางธรรม(หมอตุ๊จะไปร่วมค้นหากับเธอในโอกาสต่อไปค่ะ)  และฝึกเจริญสติด้วยเทคนิคเห็นกายเคลื่อนไหว เห็นใจคิดนึก (กำลังจะหาหนังสืออาจารย์กำพลส่งไปให้อ่านค่ะ)

ทำกิจ คือ การสร้างสังคมกับเพื่อนในที่ทำงานใหม่ การตั้งเป้าหมายใหม่ๆในชีวิต เช่น การช่วยเหลือผู้ป่วยด้านจิตวิญญาณ (ตามทักษะที่ได้เรียนไป) วันละ 1 คน ฯลฯ

กราบนมัสการพระอาจารย์ อีกครั้ง ค่ะ

จดหมายฉบับนี้ เหมือนรายงานส่งครู ค่อนข้างยาว เพราะกำลังอินกับธรรมะ(จากพระอาจารย์)ที่นำไปจัดกระบวนการเรียนรู้ให้คนอื่น 

หมอตุ๊มีคำถามเรียนถามพระอาจารย์ดังนี้ค่ะ

  1. ขอข้อสังเกตเพิ่มเติมจากพระอาจารย์ในเรื่องที่เล่ามาทั้งหมด  โดยเฉพาะประเด็นเรื่องเป้าหมายของชีวิต ตามหลักการทางพุทธศาสนา คนเราจำเป็นต้องมีเป้าหมายของชีวิตไหมคะ และเป้าหมาย  ต่างจากการยึดติดอย่างไร
  2. ขอเรียนถามท่านด้วยคำถามของมดคือ “ ใครๆเขาว่า เวลาที่ผ่านไปจะเป็นยารักษาใจ แต่ทำไม สำหรับมดแล้ว  ยิ่งนับวัน มดยิ่งคิดถึงแม่มากขึ้นทุกที ”

 

ด้วยความเคารพและศรัทธาอย่างสูง
หมอตุ๊

เจริญพร คุณหมอตุ๊

อาตมาคิดว่า มองในแง่ของชาวพุทธ เราทุกคนควรมีเป้าหมายของชีวิต ด้วยเหตุนี้ คำถามที่ว่า "เกิดมาทำไม" "อยู่เพื่ออะไร"
จึงมีความสำคัญสำหรับชาวพุทธ  พระพุทธองค์ก่อนตรัสรู้ ก็ทรงมีเป้าหมายในชีวิตอย่างแจ่มชัด นั่นคือ ทรงแสวงหาทางดับทุกข์ เป็นเหตุให้ทรงออกจากวัง มาบำเพ็ญพรตอย่างนักบวช  การมีเป้าหมายของชีวิตช่วยให้ดำเนินชีวิตอย่างมีทิศทาง หาไม่ก็จะไม่ต่างจากจอกแหนในแม่น้ำ คือแล้วแต่เหตุปัจจัยภายนอกและอารมณ์จะพาไป  การมีเป้าหมายของชีวิตนั้นไม่จำเป็นต้องทำไปด้วยความยึดติดถือมั่น(หรืออุปาทาน) แต่ก็มีหลายคนที่ยึดติดถือมั่นในเป้าหมายของชีวิต 

ที่ว่าความยึดติดถือมั่นนั้น  ในพุทธศาสนาหมายถึงความยึดติดว่าเป็นตัวตน คือทำไปด้วยกิเลสหรือทิฐิมานะ เพื่อสนองตัวตน เช่น เพื่อเสริมสร้างความยิ่งใหญ่ของตัวตน รวมทั้งเห็นว่าเป้าหมายของชีวิตที่ตนยึดถือนั้นถูกต้อง เป็นเลิศ ใครที่มีเป้าหมายต่างจากตน เป็นคนโง่ ไม่ถูกต้อง  ใครที่ขัดขวาง เป้าหมายของตน เป็นคนเลว ชั่วร้าย ต้องถูกจัดการ หรือถ้าตนเองไม่อาจบรรลุเป้าหมาย ก็โกรธแค้น เศร้าเสียใจจนอยากฆ่าตัวตาย รวมทั้งยึดมั่นว่าเที่ยงแท้แปรเปลี่ยนไม่ได้ จึงยึดเอาไว้อย่างงมงาย โดยไม่คิดที่จะไตร่ตรองตรวจสอบว่าดีแล้วหรือยัง รวมทั้ง ไม่คิดแก้ไขเพราะไม่ยอมรับว่ามันผิดพลาด เป็นต้น

สำหรับข้อที่  ๒ นั้น อาตมาคิดว่า เป็นเพราะ ๑) เวลาหนึ่งปียังน้อยไปสำหรับกรณีของมด  ๒) มดคอย "ต่ออายุ" ให้แก่ความเศร้าของตนอยู่ตลอดเวลา มันจึงไม่จางหาย  ตามธรรมดาแล้ว อารมณ์ทุกอย่างเมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมดับไปในเวลาไม่นาน เหมือนเปลวไฟ แต่ที่มันคงอยู่ เพราะเราไป"เติมเชื้อ" ให้มัน ด้วยการครุ่นคิดถึงมัน เช่น โกรธใครสักคน ก็เฝ้านึกถึงคนนั้น เลยไม่หายโกรธเสียที ความเศร้าเสียใจและอาลัยคิดถึงก็เช่นกัน  คงเพราะมีสิ่งกระตุ้นให้มดคิดถึงแม่เสมอ เธอจึงยังอาลัยถึงแม่ไม่หยุดหย่อน  อาจเป็นเพราะแม่เป็นคนเดียวที่สำคัญในชีวิตเธอ ไม่มีคนอื่นที่จะช่วยดึงความสนใจของเธอ หรือเป็นที่ ๆ เธอจะฝากใจไว้แทน  การที่คุณหมอชวนเธอไปทำอะไรดี ๆ เพื่อคนอื่นนั้น เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยได้ แต่ต้องใช้เวลา เพราะชีวิตของเธอผูกพันกับแม่มาก พูดได้ว่า เธอสู้ชีวิตเพราะแม่หรือเพื่อแม่คนเดียว

อย่างไรก็ตามแม้แม่จะไม่อยู่กับเธอแล้ว เธอก็ยังสามารถระลึกถึงแม่ในแง่บวกได้ นั่นคือ เอาแม่เป็นแรงบันดาลใจในการสู้ชีวิตต่อไป เพราะที่จริงแล้วทั้งหมดที่แม่ทุ่มเทให้แก่มด ก็เพราะอยากเห็นมดพึ่งตัวเองได้ รวมทั้งเป็นหมอที่ดี โดยไม่มีอุปสรรคจากความพิการ มดควรคิดว่า เธอยังควรสู้ต่อไปเพื่อแม่ คือเพื่อให้ความปรารถนาของแม่เป็นจริงได้ในที่สุด ซึ่งก็จะเป็นจริงได้แค่ไหนก็อยู่ที่ตัวเธอ ถ้าเธอสิ้นหวัง ท้อแท้ หยุดเพียรพยายาม ก็เท่ากับว่าความเพียรพยายามของแม่ตลอด ๒๐ กว่าปีแทบจะสูญเปล่า  เธอคือรูปธรรมแห่งผลของความเพียรของแม่  ถ้าเธอเป็นหมอที่ดีและมีความสุข ก็แสดงว่าความเพียรแม่บรรลุผล  แต่ถ้าเธอเป็นคนที่ท้อแท้สิ้นหวังในการดำเนินชีวิต ก็เท่ากับว่าความเพียรของแม่สูญเปล่าหรือไปไม่ถึงเป้าหมาย  มดน่าจะคิดในแง่นี้บ้าง และทุ่มเทความพยายามเพื่อการเป็นหมอที่ดี  หากเธอเอาใจจดจ่อไปในทางนี้ เชื่อว่าความเศร้าเสียใจอาลัยในแม่ก็จะบรรเทาเบาบางลง
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล วิสาโล www.visalo.org  korobiznet เอื้อเฟื้อพื้นที่   
webmaster    ๒๕๕๒ All Rights ไม่ Reserved