![]() |
โยมถามพระตอบ : ตอนที่ ๓ |
คำถามที่ 1. กรรมอะไรที่มักทำให้เป็นคนที่ถูกเข้าใจผิด โดยไม่สามารถที่จะอธิบายให้ใครฟังได้ มักถูกมองผิดๆ อยู่ร่ำไป ยิ่งพูดยิ่งอธิบายก็เหมือนยิ่งแก้ตัวครับ บอกใครก็ไม่มีใครเชื่อ จะทำอย่างไรที่จะแก้ไขได้บ้างครับ และทำอย่างไรที่จะทำให้ผมไม่ต้องได้รับวิบากกรรมแบบนี้อีกครับ ตอบ กรรมที่คุณพูดถึงคงไม่ใช่กรรมในอดีตชาติ แต่เป็นกรรมในปัจจุบันชาติ มีสาเหตุมากมายที่ทำให้ผู้คนเข้าใจผิดได้ง่าย เช่น อารมณ์ร้อน หุนหันพลันแล่น พูดจาห้วนสั้น พูดจาไม่อยู่กับร่องกับรอย ใช้ถ้อยคำแรง ๆ ไม่ค่อยคำนึงถึงความรู้สึกของผู้อื่น ยิ่งเป็นคนที่สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นเนือง ๆ หรือไม่ค่อยมีน้ำใจแก่ผู้อื่น ก็ง่ายที่คนอื่นจะมองในแง่ลบ ไม่ว่าจะทำอะไรลงไป ก็ถูกตีความไปในทางร้าย แม้จะพยายามชี้แจงอย่างไร ก็ไม่มีใครฟัง คุณลองใคร่ครวญหรือทบทวนตนเองดูว่า มีนิสัยหรือการกระทำอย่างไรหรือไม่ ที่ทำให้ผู้คนเข้าใจผิดเนือง ๆ พร้อมกันนั้นก็ลองสอบถามความเห็นจากเพื่อน ๆ หรือคนใกล้ชิดด้วยในเรื่องนี้ เขาอาจเป็นกระจกสะท้อนให้คุณเห็นตนเองชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ตาม อาตมาเชื่อว่าคนที่เข้าใจคุณถูกต้องก็มี อย่าไปคิดว่ามีแต่คนเข้าใจผิด เป็นไปได้ว่าคุณมองเห็นแต่คนประเภทหลัง จึงคิดว่าไม่มีใครเข้าใจคุณเลย คำถามที่ 2. เพื่อนร่วมงานเป็นคนชอบนินทา เห็นแก่ตัว ทำงานเอาหน้า แต่ได้ดีเพราะเป็นคนพูดเป็น ซึ่งต้องยอมรับว่าจิตของผมไม่ค่อยชอบเขาเป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้ว ผมจึงปฏิบัติกับเขาแบบคนไม่สนิท ไม่ค่อยพูดด้วยเพราะเกรงจะกลายเป็นร่วมวงนินทาไปกับเขา หากเลี่ยงไม่ได้ก็ยิ้ม ๆ แต่ในขณะเดียวกันก็สังเกตจิตตัวเอง ถ้ารู้สึกว่ามีความเกลียด ก็จะใช้วิธีสอนจิตตัวเองให้วางเฉย หรือให้ถอนความเคียดแค้นชิงชัง เป็นต้น ไม่ทราบว่าสิ่งที่ผมทำอยู่ถูกหรือไม่ อย่างไรครับ ตอบ คุณทำถูกแล้วที่พยายามรักษาใจไม่ให้ความเคียดแค้นชิงชังครอบงำ เพราะนอกจากจะทำให้คุณเป็นทุกข์แล้ว ยังอาจเผลอพูดหรือทำสิ่งที่ไม่สมควรออกไป ทำให้เขาเป็นปฏิปักษ์กับคุณและสร้างปัญหาแก่คุณ ซึ่งคงทำให้คุณทำงานอย่างไม่เป็นสุข มีเพื่อนร่วมงานแบบนี้คุณควรทำใจหนักแน่น เพราะวันดีคืนดีอาจถูกเขานินทาว่าร้าย หรือตกเป็นขี้ปากของเขา ไม่ควรเอาคำพูดของเขามาเป็นอารมณ์ ควรมองว่านี้คือแบบฝึกหัดอีกข้อหนึ่งที่ฝึกให้คุณอดทน มีขันติ รวมทั้งสอนธรรมแก่คุณว่า นินทาเป็นธรรมดาโลก ไม่มีใครหนีพ้นแม้แต่พระพุทธเจ้า
คำถามที่ 3. ครอบครัวของโยม มักจะขัดขวางโยมทุกครั้งเวลาที่โยมตั้งใจปฏิบัติธรรมค่ะ และชอบชวนให้ดูหนังดูละคร หรือ การละเล่น พอไม่ทำตามบางครั้งก็พูดจากระทบกระทั่ง ทำให้รู้สึกว่า เราแปลกแยกและโดดเดี่ยว ยิ่งพูดอธิบายก็กลัวว่าคนที่บ้านจะยิ่งคิดไม่ดีหากไม่เข้าใจ ไม่รู้จะทำอย่างไรดีค่ะ กราบรบกวนพระอาจารย์เมตตาชี้แนะค่ะ ตอบ การปฏิบัติธรรมไม่ได้หมายถึงการนั่งหลับตาทำสมาธิหรือเข้าคอร์สเท่านั้น การรู้จักทำใจให้เป็นปกติ ไม่หวั่นไหว ต่อคำพูดกระทบกระทั่งของคนในบ้าน ก็เป็นการปฏิบัติธรรมด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกันก็ควรเข้าใจด้วยว่าเขาไม่ได้มีเจตนาร้ายต่อคุณ อาจเป็นห่วงคุณด้วยซ้ำที่มาปฏิบัติธรรม ทั้งนี้เป็นเพราะเขาไม่เข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมคืออะไร มีประโยชน์อะไร เรื่องแบบนี้บางครั้งการอธิบายด้วยคำพูดก็ไม่ได้ผล แต่หากคุณสามารถรักษาใจให้สงบเย็น ไม่ทุกข์ และไม่โกรธเขา ก็จะเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เขาเห็นอย่างชัดเจนว่า การปฏิบัติธรรมนั้นมีผลดีอย่างไรบ้าง พูดง่าย ๆ คือ แทนที่จะพูด ก็“ทำให้ดู อยู่ให้เห็น เย็นให้สัมผัสได้” วิธีนี้สามารถโน้มน้าวให้เขาหันมาสนใจการปฏิบัติธรรม หรืออย่างน้อยก็เห็นว่าการปฏิบัติธรรมมีผลดีต่อคุณ ทำให้หายห่วงหายกังวลที่คุณมาปฏิบัติธรรม หรือถึงแม้เขาจะมองไม่เห็นเลยทั้งสองประการ แต่ก็จะเกรงใจคุณมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อคุณยังเย็นและยิ้มให้เขาเสมอ ไม่ว่าเขาจะพูดกระทบคุณเพียงใดก็ตาม
คำถามที่ 4. หากต้องผิดศีลโดยไม่เจตนาเพราะความเข้าใจผิด จะบาปมากไหมคะ? ยิ่งอีกฝ่ายเข้าใจผิดว่าเราตั้งใจและคิดอาฆาต ไม่ว่าเราจะอธิบายอย่างไรก็ไม่เป็นผล .. โยมได้แต่แผ่เมตตาและหวังว่าอีกฝ่ายจะเข้าใจและอภัยให้ ..โยมจะสามารถทำอย่างไรที่จะช่วยให้เรื่องนี้คลี่คลายและไม่ต้องผูกเวรผูกกรรมกันอีกได้เจ้าคะ ตอบ องค์ประกอบสำคัญข้อหนึ่งของศีล คือ เจตนา ดังนั้นหากไม่เจตนาก็ไม่ผิดศีล นั่นคือไม่บาป อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าเมื่อได้กระทำลงไปแล้วเพราะความเข้าใจผิด จนเกิดผลเสียต่อผู้อื่น ก็ต้องยอมรับผลที่จะตามมา แม้กระนั้นผลดังกล่าวก็สามารถบรรเทาลงได้ เช่น ขอโทษเขา หรือชดใช้ในสิ่งที่ทำลงไป แต่หากเขายังผูกโกรธอยู่และหาทางกลั่นแกล้งเบียดเบียน สิ่งที่ควรทำก็คือ อดทน ไม่โกรธตอบ ให้อภัยเขา และแผ่เมตตาให้เขา วิธีนี้จะช่วยให้เวรระงับลง ดังมีพุทธพจน์ว่า “เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร” |
รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล
วิสาโล www.visalo.org korobiznet
เอื้อเฟื้อพื้นที่
|