หน้ารวมคอลัมน์สัมภาษณ์
   บทความ > คอลัมน์สุขใจในนาคร > ทำตัวตนให้เบาบาง
กลับหน้าแรก
 

สุขใจในนาคร ธันวาคม ๒๕๔๖
ทำตัวตนให้เบาบาง

พระไพศาล วิสาโล

หมอพบว่าเด็กคนหนึ่งกำลังมีไข้สูง จึงประคองขึ้นมาจากเตียง และป้อนยาน้ำใส่ปากเธอ แต่แล้วเธอก็ปัดมือเขาอย่างแรง จนช้อนหลุด ยาเปรอะพื้น

หมอป้อนยาอีกครั้ง บอกเธอว่า “กินยาหน่อย ไม่ขมหรอก” แต่ไม่ทันที่ยาจะเข้าปาก เธอก็ปัดอีกที คราวนี้ช้อนไม่หลุดจากมือหมอ แต่ยาน้ำก็กระเซ็นเลอะเสื้อของเขา

หมอไม่ละความพยายาม เชื้อชวนเด็กน้อยกินยา พร้อมกับยิ้มให้ เธอปัดมือหมออีกครั้ง แต่เบากว่าเดิม

ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น หมอป้อนยาอีกครั้ง สบตาเด็กน้อยพลางอ้าปากเชื้อเชิญให้เธอทำตาม ไม่ต่างกับเวลาแม่ป้อนข้าวใส่ปากทารก ทีนี้เธอยอมให้ช้อนสัมผัสริมฝีปาก แต่ลังเลใจที่จะอ้าปาก เธอยกมือทำท่าจะปัด แต่แล้วก็ชะงัก และแล้วก็ยอมเปิดปาก พอกินยาเสร็จเธอก็หันหลัง ซุกหน้ากับเตียงทันทีราวกับคนแพ้ที่กำลังเสียใจ

เด็กน้อยไม่ได้แค่ป่วยกาย แต่มีบาดแผลที่จิตใจ เธอไม่เพียงถูกทอดทิ้ง ขาดความอบอุ่นมาตั้งแต่แบเบาะเท่านั้น หากเธอยังถูกผู้คนทำร้าย ด่าว่า จึงไม่ไว้ใจใครทั้งสิ้น ชีวิตที่ต้องดิ้นรนเร่ร่อนบนท้องถนนมาตลอด ยิ่งกดดันเธอให้เต็มไปด้วยความหวาดระแวง แม้กระทั่งกับหมอ

หมอไม่ใช่คนแรกที่ถูกเด็กน้อยปฏิเสธ ก่อนหน้านั้นหมอหนุ่มคนหนึ่งก็ถูกเธอปัดมือปัดช้อนมาแล้ว หลังจากพยายามอีกครั้งแต่ไม่สำเร็จ เขาก็เลิกเพราะหักห้ามโทสะไม่ไหว เป็นหมอมาหลายปีไม่เคยเจอเด็กที่หยาบคายแบบนี้ แต่หมอคนหลัง ผ่านโลกมามากกว่า แม้เป็นหมอใหญ่ แต่กลับอดทนกับกิริยาอาการของเด็กน้อยได้มากกว่า ที่สำคัญก็คือเขาถือตัวถือตนน้อยกว่าหมอคนแรก

คนทั่วไปนั้น หากพบเด็กสักคนที่กำลังเดือดร้อน และอยากจะช่วยเด็กคนนั้น แต่ถ้าเจอความหยาบคายของเด็ก เขาคงนึกในใจว่า “ทำไมถึงทำกับฉันแบบนี้ ฉันอุตส่าห์ปรารถนาดีกับแก” หมอคนแรกก็คิดแบบนั้น ถึงฉุนเฉียวเด็กน้อย

แต่หมอคนหลังไม่ได้คิดแบบนั้น เขากลับคิดในใจว่า “ทำอย่างไรเด็กถึงจะยอมกินยาได้ ?” หมอไม่ได้คิดถึงตัวเองเลย เขาไม่สนใจว่าทำไมเขาถึงถูกปฏิบัติแบบนั้น สิ่งที่หมอใส่ใจคือตัวเด็กมากกว่า หมอสนใจว่าจะแก้ปัญหาที่อยู่ตรงหน้าอย่างไร

ในสถานการณ์เช่นนี้ เมื่อใดที่นึกถึงแต่ตัวเอง สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ความไม่พอใจ ความโกรธ ความฉุนเฉียว แต่เมื่อใดที่นึกถึงคนอื่น คิดถึงปัญหาที่ต้องแก้ จิตใจก็จะไปจดจ่ออยู่กับการหาทางออก ไม่เปิดช่องให้ความขุ่นเคืองใจเกิดขึ้น พูดอีกอย่างคือ ใช้อารมณ์น้อยลง แต่ใช้ปัญญามากขึ้น

เมื่อใดที่เราคิดถึงแต่ตนเอง เมื่อนั้นเรากำลังเอา “ตัวตน” ออกรับทุกอย่างที่มากระทบ ไม่ว่าทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ หากสิ่งที่มากระทบนั้น น่าพอใจก็แล้วไป แต่บ่อยครั้งมันเป็นสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ไม่พึงปรารถนา ผลก็คือ เกิดความทุกข์ขึ้นมา เพราะตัวตนถูกสิ่งนั้นมากระทบอย่างจัง

คนเรามักเอาตัวตนออกรับทุกเรื่อง จนกลายเป็นนิสัยและทำไปโดยไม่รู้ตัว เวลามีคนมาตักเตือนหรือตำหนิ ปฏิกิริยาแรกสุดที่เกิดขึ้นในความคิดของคนส่วนใหญ่ก็คือ “เขาว่าฉัน ๆ ๆ” จากนั้นก็ปรุงต่อไปว่า “มาพูดอย่างนี้กับฉันได้อย่างไร” สิ่งที่ตามมาก็คือ ความไม่พอใจ ซึ่งอาจนำไปสู่การตอบโต้ด้วยวาจาหรือการกระทำที่รุนแรง

ที่จริงเราไม่จำเป็นต้องเอาตัวตนมาออกรับคำตำหนิก็ได้ หากเราเพียงแต่เปลี่ยนมุมมองหรือวิธีคิด นั่นคือหันมาสนใจว่า “ที่เขาพูดมานั้นถูกต้องไหม ?” สิ่งที่เราจะได้คือความรู้ ถ้าเขาพูดถูก เราก็จะได้ความรู้เกี่ยวกับตัวเราเองว่ามีจุดบกพร่องที่ตรงไหน แต่ถ้าเขาพูดผิด เราก็ได้ความรู้เกี่ยวกับตัวเขาว่าเขาเป็นคนอย่างไร เป็นคนด่วนตัดสินหรือไม่ เป็นคนติดยึดกับความคิดของตนเพียงใด หรือมีวิธีคิดหรือมุมมองต่างจากเราอย่างไร ความรู้ที่เกิดขึ้นทั้งสองสถานล้วนทำให้เรามีปัญญาเพิ่มขึ้นทั้งสิ้น มุมมองอย่างนี้จึงเป็นวิถีแห่งปัญญา

เวลาเราทักเพื่อนแล้วเพื่อนไม่ทักตอบ อย่าเพิ่งไปคิดว่า “ถือดีอย่างไรถึงมาทำกับฉันอย่างนี้” คิดแบบนี้จะทำให้ตัวเองทุกข์ แทนที่จะเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ลองเปลี่ยนมานึกถึงเขาบ้างว่า “เขามีเรื่องอะไรไม่สบายใจหรือเปล่า ถึงทำท่ามึนตึงแบบนี้?” คิดแบบนี้ นอกจากจะปิดช่องไม่ให้ความน้อยใจเกิดขึ้นกับเราแล้ว ยังช่วยให้เรามีความเห็นใจหรือมีเมตตาต่อเขามากขึ้น และนำไปสู่การสอบถามหาความจริงจากเพื่อนของเรา ในที่สุดเราอาจพบว่า แม่ของเขาป่วยหนัก เข้าโรงพยาบาลเมื่อคืนวานนี้เอง ที่เขาไม่ได้ทักทายเรานั้น มิใช่เพราะรังเกียจเราแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะใจกำลังห่วงกังวลถึงแม่

การคิดแบบเอาตัวตนออกรับนั้น ทำให้เราสนใจแค่ว่า ถูกใจหรือไม่ถูกใจฉัน ถ้าถูกใจก็เป็นสุข ถ้าไม่ถูกใจก็เป็นทุกข์ แต่เมื่อคิดแบบนี้เป็นนิสัยก็รังแต่จะทำให้ทุกข์ง่าย เพราะเรื่องที่ไม่ถูกใจนั้นมีเยอะ ส่วนเรื่องที่ถูกใจนั้นก็มักสนองกิเลสหรืออัตตาของเราจนเสียคนได้ง่าย เด็กที่กินแต่อาหารที่ถูกลิ้น อนามัยย่อมบกพร่องฉันใด ผู้ใหญ่ที่ชอบฟังแต่ถ้อยคำที่ถูกหู ก็กลายเป็นคนหูเบาฉันนั้น

จะไม่ดีกว่าหรือหากเรามาให้ความสนใจกับความถูกต้องมากกว่าความถูกใจ เมื่อได้ยินได้ฟังอะไร ก็ใช้ปัญญาไตร่ตรองว่ามีความถูกต้องเพียงใด มีประโยชน์หรือไม่ จะถูกใจหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องสำคัญ อาหารแม้จะถูกปาก แต่ก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าถูกต้องต่อร่างกายหรือไม่ หรือถูกสุขลักษณะเพียงใด เวลาเห็นสินค้าในร้าน แทนที่จะซื้อเพราะความถูกใจ ก็หันมาพิจารณาก่อนว่า ถูกต้องไหมที่จะซื้อ เหมาะสมหรือไม่กับสภาพเศรษฐกิจหรือฐานะของเรา และเป็นประโยชน์เพียงใดต่อการดำเนินชีวิต

ในทำนองเดียวกันเวลาเด็กเพลินกับของเล่น แทนที่จะถามแค่ว่า “สนุกไหม” ซึ่งเป็นการถามโดยเอาความถูกใจเป็นเกณฑ์ น่าถามด้วยว่า “อยากรู้ไหมว่ามันทำงานอย่างไร” คำถามอย่างหลังนี้จะช่วยให้เด็กหัดใช้ปัญญา ซึ่งจำเป็นต่อการค้นหาความถูกต้องและความจริง

การเอาตัวตนออกรับหรือเอาความถูกใจเป็นเกณฑ์นั้น ทำให้กิเลสหรืออัตตาพองโต จนครอบงำกำหนดชีวิตของเราอย่างกระดิกกระเดี้ยไม่ได้ ตรงกันข้ามการเอาปัญญาออกรับหรือเอาความถูกต้องเป็นเกณฑ์ จะทำให้ตัวตนเบาบาง ความทุกข์เข้ามากระทบไม่ได้ง่าย ๆ จึงเป็นชีวิตที่อิสระและสงบเย็นอย่างแท้จริง

รวบรวมงานเขียนและบทความของพระไพศาล วิสาโล www.visalo.org  korobiznet เอื้อเฟื้อพื้นที่   
webmaster    ๒๕๕๒ All Rights ไม่ Reserved